ประสบการณ์ "บวช" วัดชลประทานรังสฤษดิ์

หลังจากที่ผมได้ประสบการณ์การบวชมาแล้ว ก็อยากเล่าสู่ให้ทุกท่านผ่าน blog นี้นะครับ

เมื่ออายุย่างเข้า 25 ปี ก็มีความคิดเกิดอยากจะบวชขึ้นมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้วางแผนไว้เลยครับ เล็งอยู่นานว่าจะบวชวัดไหนดี ใจก็คิดแค่ว่าอยากบวชแบบที่ไม่ต้องเปลืองมาก และไม่เหมือนกับที่ๆ คนอื่นเขาบวชกัน สรุป ก็ได้มาเจอวัดนี้

"วัดชลประทานรังสฤษดิ์"

เจอวัดนี้ได้ยังไง ?
     ผมมีโอกาสได้เข้ามาร่วมพิธีศพญาติที่วัดนี้รวมแล้วก็ 2 ครั้ง ลักษณะพิธีการเหมือนกันก็คือ ไม่ว่าจะวันสวด วันเผา พระจะสวดน้อยเน้นเทศน์เยอะๆ ห้ามมโหรีหรือเฮฮาปาร์ตี้ต่างๆ รวมถึงการเลี้ยงอาหารก็ไม่อนุญาต ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย เพราะที่บทสวดฟังก็ไม่รู้เรื่อง เทศน์ให้ฟังได้อะไรกว่า เรื่องอาหารก็ทำให้ญาติโยมไม่สิ้นเปลือง ก็เลยเริ่มรู้สึกดีกับวัดนี้เรื่อยๆ


สาเหตุที่บวชวัดนี้ ?
     อย่างที่บอก วัดนี้มีแนวคิดดี ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นแนวคิดของหลวงปู่ปัญญานันทภิกขุ ก็เลยอยากรู้มากขึ้นว่า บวชเข้าไปจริงๆแล้ว จะเป็นอย่างไร วัดนี้มีสาขาคือที่สวนโมกข์ และวัดปัญญานันทาราม หลังบวชพระสามารถทำเรื่องขอไปได้ แต่เจ้าอาวาสใหม่(สง่า สุภโร) อนุญาตให้ไปหลังจากบวชได้ 1 เดือนแล้วเท่านั้น

------------------------------------- แบ่งปันสำหรับผู้ที่สนใจจะบวชที่วัดนี้ -------------------------------------
การสมัครบวช
  1. ดูกำหนดการรับสมัคร www.watchol.org และไปให้ตรงวันตรงเวลา 
  2. พระจะชี้แจงเรื่องการสอบและเอกสารต่างๆ รวมถึงการตรวจสุขภาพด้วย
  3. สอบบวช ถ้าท่องมายังไงก็ผ่าน แต่ถ้าไม่ผ่านก็อดบวช ญาติต้องมาด้วยอย่างน้อย 3 คน เพราะต้องลงชื่อรับรอง 1 คนและพยาน 2 คน
  4. รับเครื่องอัฐบริขาร ปลงผม ซ้อมพิธีบวช และนอนวัดชุดขาว 1 คืน
พิธีบวช

การบวชเป็นการบวชหมู่ พร้อมกันทั้งหมด รุ่นผม 67 รูป
*ไม่มีแห่ ไม่มีโปรยทาน*

ชุดนาค
  • เสื้อคลุมนาค เตรียมไว้ไม่ได้ใช้เลย
  • เข็มขัดนาค ได้ใช้ แต่ไม่ใช้ก็ได้เพราะว่าทางวัดให้ใช้แค่รัดผ้านุ่งให้อยู่ (ถ้าไม่มีจริงๆ/ลืมพระอาจารย์จะให้ใช้รัดประคดแทน)
  • เสื้อเชิ้ตขาว ต้องเตรียมมาเอง
  • ผ้านุ่งนาค วัดให้ยืม

ช่วงเช้าเป็นการบวชสามเณร จากนั้นญาติโยมก็ร่วมทำบุญเลี้ยงเพลพระใหม่
ช่วงบ่ายพระจะแบ่งชุดเข้าโบสถ์เพื่อบวชเป็นพระ (ไม่แนะนำให้ญาติโยมรอ เพราะจะนานมากๆ บวชทีละ 3 รูปตามพระวินัย)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

------------------------------------ ใต้ร่มเงาวัด ของ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ------------------------------------
กิจวัตรประจำวัน
  • 04.00 - 05.00 น.   ทำวัตรเช้า 
  • 05.40 - 07.20 น.   บิณฑบาต 
  • 07.30 - 08.30 น.   ฉันท์เช้า 
  • 09.15 - 10.45 น.   เรียนภาคเช้า 
  • 11.00 - 12.00 น.   ฉันท์เพล 
  • 13.30 - 15.30 น.   เรียนภาคบ่าย 
  • 15.30 - 16.00 น.   ทำความสะอาด 
  • 17.00 - 18.30 น.   ประชุมนวกะ  
  • 18.30 - 21.30 น.   ทำวัตรเย็น 

เวลาว่างระหว่างวัน ~3 ชม.
*อย่าลืมนาฬิกาปลุก
*วัดไม่อนุญาตให้พกโทรศัพท์

     ก็ถือว่าแต่ละวันง่วงมากๆ ยิ่งคนนอนดึกอย่างผมต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร กิจที่ประทับใจคือ บิณฑบาต เป็นอะไรที่จะได้ออกไปนอกวัดบ้าง เห็นโลกภายนอกบ้าง เพราะพระใหม่ทุกรูปก็ไม่มีใครได้อัพเดตอะไรทั้งสิ้น นอกจากธรรมะจากห้องเรียน


กิจกรรมวันอาทิตย์
     ไม่มีการเรียนการสอนในวันอาทิตย์ แต่จากเรียนภาคเช้าต้องไปนั่งลานหินโค้งจนถึงฉันท์เพล ส่วนเรียนภาคบ่ายจะกลายเป็นเวลาว่าง แต่วันนี้ก็จะถูกเรียกว่า "วันพบญาติ" เพราะญาติจะมาเยอะ ก็ต้องนั่งสนทนาธรรม(คุย)ด้วยเป็นธรรมดา และบางครั้งก็ใช้พบพระเถระ ใช้ถ่ายรูปรวม แต่ก็นับว่าได้ว่างมากกว่าวันอื่น (ใช้จำวัดเยอะๆซะ!!)


การเรียนการสอน
     เป็นการเรียนโดยอิงจากเนื้อหาในหนังสือ นวโกวาท สำหรับนักธรรมชั้นตรี แต่พระอาจารย์ก็ไม่ได้สอนเป๊ะๆๆ ส่วนมากพระอาจารย์ก็จะสอนนอกตำรา จากประสบการณ์ตรงของท่านเองมากกว่า ซึ่งผมว่าก็สนุกกว่าในเนื้อหามาก บางวันก็จะเป็นการปฏิบัติคือ เจริญภาวนา(กรรมฐาน) นั่งๆ เดินๆ ฝึกจิตให้อยู่กับตัวเอง


ฉลองพระ
     เนื่องจากรุ่นผมเป็นรุ่นแรกสำหรับเจ้าอาวาสใหม่(สง่า สุภโร) ท่านอยากให้พระใหม่ได้แสดงธรรมให้ญาติโยมของแต่ละท่านฟัง รวมถึงการทำศาสนพิธี คือ ให้ศีล นำถวายภัตตาหาร ให้พร และเทศน์รูปละ 5 นาที ก็เป็นอะไรที่พระใหม่ตื่นเต้นพอสมควร จัดว่าเป็น highlight ของพระนวกะรุ่นกุมภาพันธ์ 2558 เลยก็ว่าได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


คำถามยอดฮิต บวชแล้วได้อะไรบ้าง?
     หลายคนคิดว่า บวชแล้วจะเป็นคนใจเย็น มีความสุขุมมากขึ้น แต่สำหรับผม ผมคิดว่าการบวชเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ให้เราได้คิดพิจารณาว่าสิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร แล้วที่ผ่านมาเราทำดีแล้วหรือไม่ และจะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตฆราวาสต่อไปอย่างไร และผมคิดว่าสิ่งที่ผมสรุปได้จากการบวชนี้ได้ดีที่สุดคือ

"กรรม เกิดจากการกระทำของเรา"

นั่นหมายความว่า การกระทำของเราคือสิ่งสำคัญที่สุด ตั้งแต่วันบวชถึงวันลาสิกขา วัดนี้ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อเลย เช่น ไม่มีฤกษ์บวช(จัดเป็นรอบๆละครั้งต่อเดือน) สอนให้อย่ายึดติด เป็นต้น นอกจากนี้เนื่องจากเป็นการบวชหมู่ ทำให้มีเพื่อนต่างวัยจำนวนมาก จนลาสิกขาออกมาก็ติดปากว่า "พระ...." "หลวงพี่......" เพราะใช้สรรพนามกันไม่ถูก


ความเห็นถึงพุทธศาสนา
     พุทธศาสนาในประเทศไทย ต้องยอมรับว่ามีความเสื่อมไปพอสมควร สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าไปอยู่ในคณะสงฆ์แล้วได้มาคือ อะไรที่เราเคยมองว่าพระรูปนั้นไม่ดีอย่างไร เราก็จะไม่ทำ และด้วยความที่วัดชลประทานฯ มีญาติโยมมากพอสมควร ยิ่งเป็นการกดดันเล็กๆว่า เราจะต้องทำตัวให้น่าเคารพสมกับที่เค้ากราบไหว้

ศาสนพิธี เป็นเพียงแค่เครื่องดึงดูดญาติโยมให้เข้ามาทำบุญกัน พระอาจารย์บอกเสมอว่า พระสงฆ์คือนาบุญ คือ เป็นที่ๆให้คนมาปลูกบุญ และเก็บเกี่ยวผลบุญไป

ศาสนาจะเสื่อมหรือไม่ ผมว่าญาติโยมก็มีส่วนสำคัญ ปัจจุบันคนมักยึดติดกับไสยศาสตร์ จนแยกไม่ออกระหว่างพุทธศาสตร์ เลยมีให้เห็นคือนิมนต์พระไปทำพิธีโน่นนี่ที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เช่น ให้พระสะเดาะเคราะห์บ้าง ทำเครื่องรางของขลังให้บ้าง จนลืมไปว่าท่านคือผู้ถือศีล ไปๆมาๆ เลยถูกมองว่ารับแต่กิจนิมนต์ หารายได้ไปซะอย่างนั้น

แต่พระก็ไม่ได้ดีทั้งหมด บางรูปก็ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า รูปไหนดีหรือไม่ดีแล้วทำบุญไปจะได้บุญหรือเปล่า? แนะอย่างนี้ครับ แค่เราคิดจะทำบุญก็ได้บุญไปแล้วครับ ไม่ต้องสนว่าพระท่านจะดีหรือไม่ ท่านจะเอาของที่เราถวายไปใช้ในทางที่ผิดหรือเปล่า ลองมองในทางกลับกันพระมีสิกขาบท 227 ข้อ ไม่สำรวมเพียงนิดเดียวก็ถูกตำหนิ แต่ฆราวาสมี 5 ข้อให้เลือกปฏิบัติ ยังทำไม่ค่อยได้เลย เพราะฉะนั้นต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม ใครทำอะไรผลมันก็จะกลับมาสู่เขาเหล่านั้นเองแหละครับ



สุดท้าย พระอาจารย์ได้แนะนำให้มีการจัดทำหนังสือรุ่น เพื่อเป็นที่ระลึก และไว้ติดต่อกันภายหลัง(จัดทำกันเอง) แบ่งปันให้ได้รับชมกันครับ
ปล. เรื่องชื่อวัด วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ถูกเปลี่ยนเป็น วัดชลประทานรังสฤษดิ์ หลังจากเป็นพระอารามหลวงครับ

Facebook Comment

Recent Posts

Popular post of 7 days

Portal คืออะไรกันนะ???

มาตรฐานการตั้งชื่อตัวแปร (Naming Convention)

[Java] ความแตกต่างระหว่าง Overloading กับ Overriding

Popular

[Java] Java 8 DateTime ใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

Portal คืออะไรกันนะ???

[Java] ความแตกต่างระหว่าง Overloading กับ Overriding

มาตรฐานการตั้งชื่อตัวแปร (Naming Convention)

เรื่องของ ++i กับ i++

[Java] Java Static Variable และ Static Method

ลืมรหัสปลดล็อค Android เข้าเครื่องไม่ได้ มีทางออกครับ

[Java] รู้จัก OR-Mapping และ Hibernate เบื้องต้น

Push Notification คืออะไร มีวิธีทำอย่างไร (No Code)

Android Auto & Apple Carplay คืออะไร ใช้งานยังไง